NEWS

“Nicolas Cage ก็เหมือนอยู่ในฝันของเราทุกคนอยู่แล้ว”

19 Dec 2023

“Nicolas Cage ก็เหมือนอยู่ในฝันของเราทุกคนอยู่แล้ว”

สัมภาษณ์พิเศษ Kristoffer Borgli ผู้กำกับ Dream Scenario 

สำหรับผู้ชม HOUSE Samyan ค่ายหนังขวัญใจผู้ชมที่มีผลงานฮิตไม่ขาดสายอย่างต่อเนื่อง ก็คงจะหนีไม่พ้น A24 ซึ่งมีหนังปังๆเรียงเข้าฉายให้เราได้ชมกันมากมาย มีตั้งแต่หนังกระแสแรงตั้งแต่ปีที่แล้ว เจ้าของรางวัล Best Picture เวทีออสการ์เรื่องล่าสุดอย่าง Everything Everywhere All At Once หรือหนังรักสุดบาดลึกช่วงกลางปีอย่าง Past Lives หนังปั่นประสาทสุดขั้วอย่าง Beau Is Afraid, Talk To Me และหนังดราม่าเข้มข้นอย่าง Close และ The Whale


ก่อนที่เราจะขึ้นปีใหม่ ค่าย A24 เขายังมีอีกเรื่องมาฝากทุกคน นั่นก็คือ Dream Scenario ผลงานภาษาอังกฤษเรื่องแรกของผู้กำกับ Kristoffer Borgli ผู้ฝากผลงานสุดแซ่บที่เราเอามาฉายเมื่อปีที่แล้วอย่าง Sick of Myself และในเรื่องนี้ นอกจากเขาจะได้ร่วมงานกับ A24 และได้โปรดิวเซอร์เป็นเจ้าพ่อหนังสยองขวัญยุคใหม่อย่าง Ari Aster แล้ว เขายังได้นักแสดงชายลายครามอย่าง Nicolas Cage ผู้มารับบทนำ เป็นอาจารย์มหาลัย ที่ไป ‘เข้าฝัน’ ทุกคนบนโลก จนกลายเป็นคนดังในชั่วพริบตา


HOUSE Samyan มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้กำกับ Kristoffer Borgli แบบสุด Exclusive เราเลยอยากแชร์แง่มุมที่น่าสนใจ เบื้องหลังแนวคิดของหนังทั้งสองเรื่องของเขา และความพิเศษของ Dream Scenario ให้ทุกๆคนได้อ่านกัน 




(Image via Kristoffer Borgli on Instagram)


ในหนังเรื่องแรกของคุณอย่าง ‘Sick of Myself’ มันมีหลายๆฉากที่ตัวละครหลักของเรื่องอย่าง Signe เธอจินตนาการวาดฝัน ‘ฉากชีวิต’ ของตัวเอง ซึ่งพอเราได้ย้อนกลับไปดูอีกที มันเหมือนจะคล้ายๆกับคอนเซ็ปต์เริ่มต้นของ Dream Scenario เลย คุณมีไอเดียของหนังเรื่องที่สองของคุณตั้งแต่ตอนทำ ‘Sick of Myself’ เลยรึเปล่า?


ก็ไม่เชิงนะครับ ผมทำ Sick of Myself เกือบๆ จะเสร็จแล้วตอนที่เริ่มเขียน Dream Scenario แต่มันเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องกันแทบจะทันที เหมือนทำหนังสองเรื่องติดกัน มันเลยอาจจะเหมือนผมอยู่ใน Mindset เดียวกันจากเรื่องแรก ตอนไปทำเรื่องที่สองครับ




จุดเริ่มต้นของ Dream Scenario มีความเป็นมาอย่างไร


ผมเริ่มเขียนเรื่องนี้ตอนต้นปี 2020 ก่อนที่ COVID-19 จะระบาดหนัก และจุดเริ่มต้นเลยก็คือผมได้ฟังพอดแคสต์ที่มีศาตราจารย์คนนึงออกมาพูดว่าเขาควรจะต้องชนะรางวัลโนเบล แต่ตัวเขาเองยังไม่มีผลงานอะไรเลยซักชิ้น และไอความรู้สึกว่าตัวเขาสูงส่งกว่าคนอื่น คิดว่าคนทั้งโลกต้องให้รางวัล ต้องสรรเสริญชื่นชมเขามันน่าสนใจมากๆ ประกอบกับผมมีความสนใจในทฤษฏีบุคลิกภาพของ Carl Jung ที่พูดถึงจิตใต้สำนึกร่วม (Collective Unconscious) และจิตวิทยาความฝัน และพอผมเอาไอเดียทั้งสองมาประกบกัน เรื่องราวของหนังก็เลยปรากฏขึ้นมา และทำให้ผมเขียนหนังเรื่องนี้ออกมาได้ 




(Nicolas Cage in Dream Scenario, A24)




อีกอย่างที่เราได้ยินมาก็คือ พอ Nicolas Cage ได้อ่านบทหนังเรื่องนี้เขารู้สึกชอบมากๆ 


ใช่ครับ Nic เขาพูดเรื่องนี้ในสื่อทุกเจ้าเลยว่านี่เป็นหนึ่งในบทที่พออ่านจบแล้ว เขาต้องหาทางมาเล่นให้ได้ จริงๆแล้วผมไม่ได้คิดว่าจะเป็นเขามาเล่นบทนี้ในตอนที่เขียนบท แต่พอเราเริ่มแคสต์กัน ผม กับ โปรดิวเซอร์ก็นึกถึงเขาขึ้นมา และพอรู้ว่าเขาสนใจมากๆ หลังจากที่อ่านบท เราก็คิดว่าเขานี่แหละเหมาะที่สุดแล้วที่จะมารับบท Paul Matthews อาจารย์มหาวิทยาลัยต้นเรื่องของเรา ไม่ใช่แค่เพราะความสามารถทางการแสดง แต่เพราะว่าเขาเป็นคนดังที่เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก ชื่อเสียง และหน้าตาของเขาอยู่ในความคิด ความฝันของพวกเราอยู่แล้ว การได้เขามาเล่นบทนี้ ก็จะยิ่งจะส่งเสริมเรื่องราวให้ตรงประเด็น และเข้มข้นได้ทันทีเลยครับ



(Nicolas Cage and Kristoffer Borgli on Dream Scenario’s set)


สิ่งที่น่าสนใจมากๆในหนังของคุณทั้งสองเรื่อง นั่นก็คือคุณเลือกเล่าเรื่องตัวละครที่ดูผิวเผินแล้วอาจเป็นตัวละครที่ทั้งดื้นรั้นและเห็นแก่ตัว แต่ด้วยวิธีการเล่าของคุณ มันเหมือนจะมีอีกหนึ่งมิติที่ทำให้เราเข้าใจพวกเขา คุณมีหลักการอย่างไรในการหาจุดลงตัวที่จะเล่าทั้งสองด้านให้สมดุลกัน?


ผมคิดว่าผมสนใจในตัวละครที่ “น่าดู” (Watchable Characters) ซึ่งสำหรับผม ตัวละครเหล่านี้คือคน ‘ไม่ค่อยดี’  ทำพฤติกรรมที่ไม่ดี และทำชีวิตพังด้วยตัวเอง ซึ่งสำหรับบางคนอาจจะไม่ใช่ตัวละครที่ "น่ารัก" (Likeable Characters) ซักเท่าไหร่ แต่ผมรู้สึกว่าคนพวกนี้น่าทำความเข้าใจ และบางทีพอเราสัมผัสได้ว่าตัวเราเองก็มีนิสัย หรือด้านที่ไม่ดี การใช้งาน Fiction มาเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ลงลึกไปสำรวจมิตินี้ และพอเอามาสะท้อนในตัวละคร มันก็ทำให้เราสามารถเล่าเรื่อง และแสดงมิติของตัวละครได้รอบด้านมากขึ้น



อีกสิ่งที่ก็น่าทึ่งมากๆ ทั้งใน “Dream Scenario” และ “Sick of Myself” ก็คือคุณทั้งกำกับ เขียนบท และ ตัดต่อเอง ควบทั้งสามตำแหน่งเลย มีด้านไหนในสามอันนี้ที่คุณชอบที่สุด?



(Image via Kristoffer Borgli on Instagram)


จริงๆ ผมก็ชอบทั้งสามด้าน แต่ถ้าถามว่าสนุกกับอันไหนที่สุดก็คงเป็นการกำกับ เพราะมันเป็นขั้นตอนที่ได้ลงไปทำหนังจริงๆ และพอได้แลกเปลี่ยนไอเดียการสร้างกับทีมงานเก่งๆ หลายๆ คน มันก็ยิ่งสนุกขึ้นไปอีก ต่างกับตอนเขียนบท กับตอนตัดต่อ ซึ่งแม้ว่าจะสำคัญมากๆ แต่มันเป็นขั้นตอนที่ต้องนั่งทำในห้องอยู่คนเดียวกับความคิดของเรา จ้องจอคอมพิวเตอร์นานหลายชั่วโมง ซึ่งก็เหงาอยู่เหมือนกัน ต่างจากตอนลงไปกำกับหนัง แต่ผมคิดว่าไอความที่ผมสามารถทำได้ครบทั้งสามอย่าง สามารถอยู่นิ่งๆกับตัวเองตอนเขียนบท และเปลี่ยนไปเป็นคน Hyper-Social ตอนกำกับ และกลับมาอยู่เหงาๆตอนตัดต่อได้ คือกระบวนการสร้างหนังที่ลงตัวที่สุดสำหรับผม



หนังของคุณทั้งสองเรื่องพูดถึง ‘ราคาของความดัง’ ซึ่งบางคนอาจจะบอกว่าหนังของคุณเป็นหนังประเภท ‘จิกกัดสังคม’ หรือ Social Satire คุณเห็นด้วยกับคำนี้ไหม?



(Left - Sick Of Myself (2022) | Right - Dream Scenario (2023))


ผมรู้สึกว่าหนังของผมทั้งสองเรื่องมันเป็นส่วนผสมของหลายอย่าง แน่นอนว่ามันมีแง่มุมวิพากษ์สังคมในนั้น แต่มันก็ยังมีองค์ประกอบของดราม่า, คอเมดี้ และสยองขวัญอยู่ในนั้นด้วย เพราะผมอยากจะสำรวจประเด็นของหนังด้วยวิธีการเล่าในแนวต่างๆ โดยไม่จำกัดตัวเอง ผมเลยไม่อยาก Label หนังว่าเป็นแค่แนวไหนแนวหนึ่งเท่านั้น



พอทำหนังที่พูดถึงการที่คนเราอยากจะอยู่ในกระแส หรือ ‘เป็น Viral’ มาแล้วถึงสองเรื่อง มันทำให้คุณมีความคิดเกี่ยวกับ Social Media เปลี่ยนไปไหม?


น่าสนใจมากๆในประเด็นนี้ เพราะหนังทั้งสองเรื่องของผมไม่ได้มีจอ เอาจริงๆ ตัวผมเองไม่ได้คิดว่า Social Media เป็นตัวแปรหลักของตัวละครในหนังของผม แต่พอคนเราปัจจุบันอยู่กับจอตลอดเวลา คนดูเลยเชื่อมโยงสิ่งนี้เข้าไปในหนังเอง ซึ่งพอมันเป็นองค์ประกอบที่กลายเป็นเรื่องธรรมชาติในชีวิตของทุกคน สำหรับผมมันแอบน่ากลัวซะด้วยซ้ำ เพราะกลายเป็นว่ามันเข้ามาปั่นป่วนการใช้ชีวิตเราในทุกแง่มุม เราพยายามปั้นชีวิตเราให้กลายเป็น Personal Brand เรามองตัวเองว่ากำลังจากภายนอก เหมือนว่าเราอยู่ในหนัง ในละคร เป็นตัวละครที่แสดงอยู่หน้ากล้อง หรือบนเวทีตลอดเวลา ซึ่ง Social Media เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ แต่ถ้ามองลึกลงไป ก็จะเห็นว่าแรงจุงใจที่แท้จริง ก็คือการที่คนเราทุกคนต้องการการยอมรับจากคนรอบข้าง จากสังคม ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่กับโลกเรามานานแสนนาน และเป็นเรื่องที่ผมอยากสำรวจในหนังอีกด้วย



ประเทศไทยถือว่าเป็นภูมิภาคที่ 4 ที่ Dream Scenario ได้เปิดตัวฉาย หลังจากที่เปิดตัวที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต หรือ TIFF ไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และแม้ว่าคุณ Kristoffer จะพยายามไม่เข้าไปอ่านคำวิจารณ์หนังของเขาจริงจัง แต่เขาก็ดีใจที่ได้รู้มาคร่าวๆว่าหนัง Connect กับทั้งนักวิจารณ์ กับผู้ชมในประเทศที่ได้ฉายไปแล้ว และได้รับข่าวจากข้อความที่เพื่อนๆ และคนรู้จักส่งมาแสดงความยินดี ซึ่งเราคิดว่าคุณ Kris ผู้กำกับคงอาจจะไม่อยากอ่านคำวิจารณ์ และหลงไปกับกระแสหนังมากจนเกินไปเหมือนกับ Paul และคงอยากให้หนังทำงานด้วยตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบ 




Dream Scenario เข้าฉายแล้ววันนี้

ที่โรงภาพยนตร์ House สามย่าน


สัมภาษณ์ และบทความโดย สันติพัทธ์ สันติชัยอนันต์ (Broadway Boy)